สวัสดีอีกครั้งครับ หลังจากหายไปเกือบ 1 ปี เขียนไว้เมื่อตอนที่แล้วก็เมื่อ กุมภา ที่ผ่านมานู่นแน่ะ แหะๆ แต่ต้องยอมรับว่า พักหลังๆนี่ยุ่งมากครับ เพราะทั้งเรียน ทั้งทำงานช่วยอาจารย์ในแล็ปไปด้วยนี่ไม่ใช่เล่นๆเลยจริงๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราผ่านกันมา 3+1 ตอนกันแล้ว เย้! ใครที่ยังไม่เคยอ่านก็ลองกลับไปอ่านได้นะครับ เขียนไว้ตั้งแต่เรื่อง ควรสมัครทุน ก.พ. มั้ย? / สอบข้อเขียนเตรียมตัวยังไง? / ผ่านข้อเขียนแล้วเตรียมสัมภาษณ์หละ? / แล้วเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษยังไง? จากทั้งหมดนี่ น่าจะพาหลายๆคนสัมผัสกับกระบวนการคัดสันนักเรียนทุนกัน ไม่มากก็น้อยแล้วนะครับ
ครั้งนี้เราก็จะมาโฟกัสที่นักเรียนทุนที่ได้ทุนแล้วแน่นอน เซ็นสัญญาเรียบกับต้นสังกัดเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ความกังวลรอบใหม่มันกำลังจะถาโถมเข้ามาครับ ใครที่คิดว่า นักเรียนทุนที่ได้ทุน ก.พ. หายเครียด จงคิดใหม่ครับผม ฮ่าาา เพราะสิ่งที่จะตามมาก็คือ ต้องหาที่เรียนให้ได้ มันคือความเครียดซ้ำเรียดซ้อนจากการที่ต้องสอบภาษาให้ผ่านอีกขั้นนึงครับ ฮ่าาา
ในบล็อคนี้ ผมจะถือว่า นักเรียนทุนได้ผลภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่จะสมัครแล้วนะครับ ถ้าอยากรู้ทริคสอบภาษาอังกฤษต้องกลับไปอ่านตอนที่ 3 นะครับ ^_^
เอาหละครับ เกริ่นมาซะยาวขายของเก่ากินมาตั้งนาน มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
========================================================
ไปเรียนที่ไหนดี?
ข้อดีของนักเรียนทุน ก.พ. คือ เราไม่ต้องสนใจเรื่องค่าเทอมครับ แพงแค่ไหน ก.พ. ก็จ่าย แต่สิ่งที่ ก.พ. คาดหวังคือ คุณจะต้องกลับมาทำงาน พัฒนาบ้านเมือง ดังนั้น เลือกที่ดีที่สุด ไม่ต้องเกี่ยงราคาครับ
สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำ นักเรียนทุนสำหรับการเลือกมหาวิทยาลัย มี 3 อย่างครับ
- Rank ของมหาวิทยาลัยในสาขาที่จะไปเรียน
- อัตราใบสมัครต่อนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าเรียน
- ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัย
1. Rank ของมหาวิทยาลัยในสาขาที่จะไปเรียน
คำแนะนำแรกสำหรับการเลือกมหาวิทยาลัยคือ เลือกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในด้านที่เราเรียนครับ ง่ายที่สุดคือ เข้าเว็บจัดอันดับมหาวิทยาลัย แล้วก็เลือกหมวดหมู่ที่เราจะไปเรียนแล้วก็ดูตาม Rank เลยครับ
วิธีดู rankก็ง่ายมากครับ เข้าไปที่ QS Top Universities ด้านบนจะมีแถบ University Search ตามภาพด้านล่างครับ สามารถค้นโดยระดับการศึกษา ตามสาขาวิชา หรือประเทศก็ยังได้ครับ

วิธีการใช้งานมันง่ายมากๆครับ ดังนั้นผมคงจะไม่พูดถึงมากนะครับ แต่แนะนำว่า เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากจริงๆครับ มันช่วยผมตัดตัวเลือก และโฟกัสกับมหาวิทยาลัยที่ผมอยากได้จริงๆเท่านั้นครับ

2. อัตราใบสมัครต่อนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าเรียน
ข้อมูลนี้ผมว่ามีประโยชน์ตรงที่เราจะได้รู้ว่าความน่าจะเป็นมีมากน้อยแค่ไหนครับเพราะการสมัครแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นจะต้องจ่ายค่าสมัครอย่างน้อยที่ละ 3000 บาท ดังนั้น ถ้าหากที่ที่จะสมัครมีอัตราการตอบรับเข้าเรียนต่ำมากๆ อาจจะทำให้เราเสียเงินโดยปล่าวประโยชน์ วิธีการของผมคือ เลือกที่ที่อยากไปเรียนมากๆ 1 แม้ว่าความหวังจะน้อย แต่ขอให้ได้ลองซักครั้งในชีวิตอะไรประมาณนั้นครับ แล้วก็ที่อื่นๆให้สมัครเผื่อสำรองไว้ครับผม แล้วก็ต้องมีทีที่คิดว่าอัตราการรัก ซัก 50% – 60%ไว้ซักที่ครับผมกันพลาด
ข้อมูล Acceptance Rate ต้อง Google แต่ละมหาวิทยาลัยนะครับ เช่น
“UIUC Acceptance rate”

3. ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัย
จากประสบกาณ์ตรงนะครับ การไปเรียนระดับปริญญาโท และ เอก เหมือนจะแบ่งหลักๆเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งยุโรป กับฝั่งอเมริกาครับ ผมสมัครมหาวิทยาลัยในยุโรปและได้ตอบรับจาก สองมหาวิทยาลัยภายในปีแรก ทั้งสองมหาิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยจากฝั่งยุโรป คือ Lunds University ที่สวีเดน และ University of Leeds ในอังกฤษครับ แต่ผมตัดสินใจรออีก 1 ปีเพราะอยากมาเรียนที่อเมริกาครับ และสุดท้ายได้คำตอบรับจาก Univerity of Illinois at Urbana-Champaign ครับผม
จากที่มาเรียนและคุยกับเพื่อนๆเด็กทุน ทำให้เห็นว่า การเรียนของสองฝั่งนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ
- ฝั่งยุโรปนักเรียนทุนสามารถจะจบโทภายใน 1 ปี และจบเอกได้ภายใน 3 ปี และการเรียนจะเน้นที่งานวิจัยเป็นหลัก
- ฝั่งยุโรปจะมี Agency ที่ช่วยเราหาที่เรียนด้วยนะครับ Agency จะช่วยดูเอกสาร ช่วยเรื่องเดินเรื่องต่างๆ รวมถึง วีซ่าต่างๆไปด้วยในตัวเลยครับ
- ฝั่งอเมริกาส่วนใหญ่จะไม่มีการเรียนปริญญาโท แต่จะเป็นปริญญาเอก 5 ปี (course work 2 ปี วิจัย 3 ปี) ครับ เน้นงายวิจัยที่ 3 ปีท้ายครับ ข้อมูลตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกที่เรียนไม่มากก็น้อยครับ
- ฝั่งอเมริกาก็อาจจะมี Agency เหมือนกันแต่ผมไม่ได้ใช้บริการครับ ทำให้การสมัครฝั่งอเมริกาของผมต้องดั้นด้นสมัครด้วยตัวเองทั้งหมด (เหนื่อยมาก…)
กรณีของผม เปลี่ยนสายจาก วิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาเป็น ภูมิสารสนเทศน์ เลยจำเป็นต้องเข้าเรียนระดับปริญญาโท ก่อนเข้าเรียนปริญญาเอกครับเลยต้องอยู่ยาว 5++ ปีไปเลยครับผม
จากสามข้อข้างต้นน่าจะพอได้ไอเดียแล้วว่าจะไปเรียนที่ไหนแล้วนะครับ
เตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
ข้อนี้ผมคิดว่า ไม่ว่าฝั่งยุโรป หรือ อเมริกา ก็น่าจะคล้ายๆกันดังนี้ครับ
- คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL หรือ IELTS
- คะแนน GRE หรือ GMAT (อาจจะไม่มีขั้นต่ำในบาง Degree แต่เกือบจะทั้งหมดต้องส่งคะแนน)
- Statement of Purpose (บางมหาวิทยาลัยมี list คำถามมาให้)
- Research Proposal (โดยเฉพาะปริญญาเอก)
- Recommendation Letters (เท่าที่สังเกต ฝั่ง Europe ใช้ 2 คน และฝั่ง US ใช้ 3 คน)
สำหรับข้อ 1 และ 2 ผมได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนที่ 3 นะครับ ดังนั้นเราจะมาโฟกัสกันที่เอกสาร สามอย่างที่เหลือ
Statement of Purpose หรือ SoP
เอกสารนี้คือ เอกสารที่สำคัญที่สุดในการสมัครเรียนต่อ มหาวิทยาลัยต่างประเทศครับ เพราะมันคือเอกสารอยา่งเดียวที่อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่เราสมัครไปจะไ้รู้จักตัวตนของเรา รู้ว่าเรามีความมานะพากเพียรพยายามมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่เราส่งใบสมัครไป ทั้งหมดทั้งมวลจะถูกตัดสินด้วยข้อความในกระดาษ 2 หน้านี้เท่านั้นครับ
Statement of Purpose สำหรับผม เป็นการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษที่ยากที่สุดในชีวิต ถ้อยคำต้องกระชับ สื่อความหายชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ทุกคำที่ใส่เข้าไปต้องมีเป้าหมายไม่ใช่ใส่ไปเพื่อให้ได้ความยาวตามต้องการ กระบวนการเขียน SoP ของผมใช้เวลาร่างอยู่ประมาณ 1 เดือนก่อนส่งใบสมัครครับ บางมหาวิทยาลัยจะมีคำถามมาให้เลยว่า เค้าอยากจะให้เราพูดถึงเรื่องอะไร ก็อาจจะทำให้ง่ายมากขึ้นมาหน่อยนึงครับ
คำแนะนำสำหรับการเขียน SoP จากประสบการณ์ผมคิดว่ามีตามนี้ครับ
- พยายามเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ได้พบมากับตัว
- จากประสบการณ์ของมีอะไรเป็นแรงผลักดันให้เราอยากเรียนในสาขาที่เราส่งใบสมัครไป เน้นว่าควรจะเป็นส่งที่ personal นะครับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญที่จะมุ่งมั่นแก้ปัญหานั้นจริงๆ
- พูดถึงประสบการ์ณการทำงาน หรือ การศึกษาที่เคยผ่านมา ในมุมมองที่จะสื่อว่า เรามีสกิลมากพอ และ พร้อมทีจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เราสมัครครับ
- พูดถึงสิ่งที่เราต้องการจากภาควิชาหรือสาขาวิชาที่เราจะไปเรียน ว่าเราคาดหวังจะเรียนรู้อะไรจากสาขาดังกล่าว แล้วความรู้ตรงนั้นจะนำมาใช้แก้ปัญหาที่เราพูดถึงได้อย่างไร
- พูดถึงสิ่งที่เราจะสามารถ Contribute ให้กับสาขาวิชาที่เราจะไปเรียน เช่น ผมมีความรู้วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาตรี ที่จะสามารถต่อยอกไปในการใช้งานในระบบ ภูมิสารสนเทศน์ GIS ได้เพื่อพัฒนาระบบหรือ เครื่องมือใหม่ๆ เป็นต้น
- หากสามารถระบุชื่ออาจารย์ที่เราต้องการให้เป็นที่ปรึกษาให้ระบุชื่ออาจารย์ไปด้วยครับ หมายเหตุ ***** ดอกจันทร์ ล้านดวงนะครับจะดีที่สุดหากติดต่อกับอาจารย์ท่านนั้นตั้งแต่นเนิ่นๆ แล้วขอเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่ก่อนจะส่งใบสมัครได้ยิ่งดีครับ จะทำให้ใบสมัครของเรามีน้ำหนักมากขึ้น ชัวร์กว่าการส่งแบบไม่ได้เจาะจงครับ
- ลงท้ายด้วยการชื่นชมภาควิชาและคณาจารย์ในภาควิชาด้วยความจริงใจโดยกาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาควิชา และกล่าวถึงผลงานแบบกว้างๆของภาควิชาจะดีมากครับ
Research Proposal
เอกสารนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า คุณมีความสามารถในการทำงานวิจัยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหนครับ เอกสารนี้สำคัญมากโดยเฉพาะ ระดับปริญญาเอก เนื่องจากเป็นการศึกษาโดยเน้นงานวิจับเป็นหลัก สิ่งที่เอกสารนี้ต้องแสดงให้เห็นคือ ทักษะการคิดวิเคราห์และการวางแผนการวิจัย
ต้องยอมรับว่า ตอนที่ผมสมัครเรียน ผมไม่ได้เขียน Research Propasal เนื่องจากคณธที่ผมสมัครไม่ได้ Require เอกสารดังกล่าว ดังนั้น ผมอาจจะไม่สามารถให้คำแนะนำได้มากนัก แต่ผมลองค้นดู แล้วเจอว่าเว็บนี้มีข้อมูลครบถ้วน น่าจะเป็นประโยชน์ครับ
Organizing Your Social Sciences Research Paper
Recommendation Letters
เอกสารสุดท้ายนี้ สำคัญไม่แพ้ SoP แต่ง่ายกว่า SoP ขึ้นมาหน่อย เพราะเราจะมีคนที่ช่วยเราได้ นั่นคือ คนที่เราจะไปขอให้เขียน Recommendation Letter ให้เรานั่นเอง โดยปกติมหาวิทยาลัยจะขอ Recommendation Letters 2 – 5 ฉบับแล้วแต่มหาวิทยาลัย ฝั่งยุโรปจะขอน้อยกว่าฝั่งอเมริกา
Recommendation Letters เป็นเอกสารที่ใช้คำประกันว่า คุณมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะไปเรียนต่อ และสำเร็จการศึกษา โดยการรับรองจากคนรอบตัวที่คุณเคยทำงานด้วย หรืออาจารย์ที่ปรึกษาที่คุณเคยเรียนด้วย
คำแนะนำสำหรับการขอ Recommendation Letters มีดังนี้
- ขอจากอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นอาจารย์ที่เคยร่วมงานมาทุกฉบับจะดีที่สุด
- หากขอจากอาจารย์ได้ไม่ครบ สามารถขอจากหัวหน้างานที่เคยทำงานร่วมกันเป็นอันดับรองลงมา
- อาจารย์และหัวหน้างานจะไม่สามารถเขียน Recommendation Letters ได้ด้วยตัวเอง คุณจะต้องร่าง Recommendation Letters ของตัวเอง โดยร่างที่เขียนจะพูดถึง สกิลการทำงาน ความสารมารถในการจัดการปัญหา และความรู้ในช่วงที่เคยได้ร่วมงานกับผู้เขียน
- เราต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เขียนในทุกกระบวนการ อย่าคาดหวังให้ผู้เขียนดำเนินการด้วยตนเอง เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ที่จะเขียน Recommendation Letters จะเป็นคนที่มีภาระหน้าที่อยู่แล้ว
การส่ง Recommendation Letters จำเป็นจะต้องเช็คข้อมูลให้ดี เนื่องจากบางมหาวิทยาลัยให้ส่งเป็นเอกสารตัวจริงลงชื่อไปยังมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยให้กรอก Email ของผู้เขียน Recommendation Letters แล้วระบบจะส่ง link ไปยัง Email ของผู้เขียนโดยอัตโนมัติ ดังนั้น เราจะต้องคอยทวงถาม และติดตามความคืบหน้าของการส่ง Recommendation Letters ในระบบโดยสม่ำเสมอ
เอกสารครบ ก็ส่งได้เลย!
เมื่อเราได้เอกสารครถ้วนแล้ว ก็ส่งแบบฟอร์มการสมัครได้เลยครับ ทุกมหาวิทยาลัยจะมีระบบ Online Application อยู่แล้ว เราจะต้องสร้าง Account ในระบบ เพื่อสร้างใบสมัครของเราเอง โดยส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการสมัครจะอยู่ในเมนู Admission ครับ ตาม Link ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ ปุ่ม APPLY ครับผม

เมื่อเราเข้าสู่ระบบครั้งแรก เราจะต้อง สร้าง Account เพื่อติดตามเอกสาร และผลการคัดเลือกครับ จากนั้นจะมีเมนูเพื่อสร้าง Application สิ่งที่ต้องระวังและสำคัญมากๆก็คือ การสร้าง Application ไม่ใช่การส่งใบสมัครนะครับ
การสร้าง 1 account สามารถสร้างได้หลาย Application เพื่อสมัครหลายๆสาขาวิชา แต่เมื่อเรากรอกขอมูลครบถ้วนแล้ว เราจะต้องกด Submit Application และจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร จึงจะถือว่าเป็นการส่งใบสมัครนะครับ
ย้ำว่า จ่ายเงิน และได้ใบเสร็จ ถึงจะถือว่าส่งใบสมัครนะครับ!!!
การรอคอยที่แสนยาวนาน
และแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีการส่งใบสมัครกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศนะครับ หลังจากที่ส่งใบสมัครแล้วก็จะใช้เวลาอีกเป็นเดือนๆ เพื่อผ่านกระบวนการพิจารณา และประกาศผลครับ ระหว่างนี้ เราก็ได้แต่รอครับ ทำอะไรไม่ได้ ก็ทำใจให้สบาย ไปเที่ยวให้สนุกครับ ฮ่าาา
สำหรับผม ช่วงนั้นก็ลาออกจากงานมาเรียบร้อยเพราะต้องมาตั้งใจสอบภาษาอังกฤษและเตรียมส่งใบสมัคร ทำให้เป็นช่วงชีวิตที่ล่องลอยไปประมาณ 2 ปีได้ แต่โชคดีที่หาเงินใช้ได้ด้วยการรับจ้างทำเว็บไซต์ให้กับหลายๆที่ ทำให้พอมีเงินใช้บ้างโดยที่ไม่ต้องลำบากพ่อแม่มากนัก ฮ่าาาาา
ผมเข้าใจอารมณ์ดีนะครับ และอยากให้กำลังใจสำหรับน้องๆ หรือพี่ๆ ทีสอบผ่านแล้วยังต้องมาเผชิญชะตากรรมการสมัครสอบ มันบีบหัวใจมาก แต่ยังไงก็สู้ๆนะครับ มีอะไรก็ลองมาคุย มาปรึกษากันได้ Page “9Bombs” นะครับ
ขอบคุณที่อ่านมาจนจบตรงนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้นะครับ
=================================
สารบัญ
20 ข้อที่ต้องรู้ก่อนสมัครทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 0
การเตรียมตัวสอบข้อเขียนทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 1
การเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 2
การสอบภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 3
การสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 4
การเตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ :ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 5
1 Pingback