สวัสดีครับ เราเดินทางกันมาถึงตอนที่ 2 ของ “ประสบการณ์สอบทุน กพ The Series” กันแล้วนะครับ ตอนนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของ การสอบสัมภาษณ์ทุน ก.พ. ซึ่งโดยประสบการณ์ส่วนตัวผมว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ยากที่สุดในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นผมจะเอาเทคนิคการสัมภษณ์งานที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนมาเขียนไว้เผื่อใครไม่สนใจทุน ก.พ. ก็จะได้ไม่เสียเวลาป่าวๆปี้ๆ ผมเลยตั้งชื่อตอนว่า “การเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ทุน กพ : ประสบการณ์สอบทุน กพ ตอนที่ 2” 

========================

ก่อนหน้านี้ผมเขียนไปแล้ว 1+1 ตอน คือ

20 ข้อที่ต้องรู้ก่อนสมัครทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 0
เป็นข้อมูลที่คำคัญเพื่อให้เพื่อนๆ ใช้ตัดสินใจก่อนจะเลือกสมัคร ทุน ก.พ. เพราะทุน ก.พ. มีข้อจำกัดที่ไม่ถูกพูดถึง และมีข้อดีที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ครับ

การเตรียมตัวสอบข้อเขียนทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 1
เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สมัครสอบข้อเขียนของทุน ก.พ. ตั้งแต่การสมัครสอบ การเตรียมตัวสอบ ไปจนถึงเคล็ดไม่ลับสำหรับการทำข้อสอบครับผม

สำหรับใครที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ตอนที่ 0 ผมขอบคุณมากๆเลยครับ ผมก็ไม่มีอะไรจะให้นอกจาก ใจดวงน้อยๆ ของนักเรียนทุนคนนี้ ขอให้ติดต่อรับของรางวัลที่กองฉลากได้เลยนะครับ อิอิ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

=======================

1. ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อประกาศผล

ขอแสดงความยินดีสำหรับท่านที่มีชื่อในประกาศผู้ผ่านข้อเขียนนะครับ คำแนะนำแรกที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ

อ่านข้อมูลในประกาศ และข้อปฏิบัติสำหรับการเข้าสัมภาษณ์ให้ละเอียดที่สุดครับ

ข้อมูลที่สำคัญที่ต้องรู้ คือ

  1. ต้องไปสอบสัมภษณ์ที่ไหน ปกติแล้วการจัดสอบสัมภาษณ์จะจัดที่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต แต่ผมก็จำตึก จำชั้นไม่ได้ ต้องหาข้อมูลกันเองนะครับ ^_^
  2. ต้องไปสัมภาษณ์วันที่เท่าไหร่ และเริ่มสัมภาษณ์กี่โมง สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าไปไม่ทันเวลาเริ่ม จะถูกตัดสิทธิ์การสัมภาษณ์โดยทันที
  3. เอกสารที่ต้องเตรียมไป ปกติแล้วจะไม่ได้ระบุว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรไปเพิ่มเติม เนื่องจากเราส่งเอกสารที่จำเป็นให้ทาง ก.พ. แล้วตั้งแต่วันที่สอบสัมภาษณ์นั่นเองครับ

ชื่อคู่แข่งนั้น สำคัญไฉน?

ข้อมูลต่อมาที่เราจะได้จากประกาศรายชื่อผู้ผ่านสอบข้อเขียนก็คือ ชื่อ-นามสกุล ของคู่แข่งเราแบบครบถ้วน! นี่แหละครับเป็นอีกข้อมูลที่มีค่ามหาศาล ฮ่าา (ทำเสียงหัวเราะแบบตัวร้ายในการ์ตูน!!!) จากรายชื่อ เราจะรู้ได้เลยว่าเราเป็นต่อ หรือเป็นรองคู่แข่งคนไหนอยู่บ้าง แล้วเราต้องเตรียมตัวต่อสู้กับอะไร

ที่จริงแล้ววิธีนี้มันใช้ได้กับทุกอย่างแหละ เอาไว้หา Facebook ของคนที่แอบชอบ เอาไว้หาประวัติของคนที่เราเกลียด ก็สามารถทำได้ วิธีทำก็ง่ายๆครับ เอาชื่อคู่แข่งเราไปค้น Google เลย เราจะได้ข้อมูลของคู่แข่งมา มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เอามาก่อนครับ แล้วเอาข้อมูลที่ได้มาให้คะแนนตามเกณฑ์นี้นะครับ

  • มหาวิยาลัยที่จบมามี top 3 ให้คะแนน +1
  • และระดับปริญญาที่เคยเรียนมา ถ้าสมัครทุน ป.โท-เอก แล้วคู่แข่งจบ ป.โท มาก่อนแล้ว ให้คะแนน +1 
  • ดูลักษณะว่าเป็นคนทำกิจกรรมหรือป่าว ถ้าคู่แข่งทำกิจกรรมเยอะแยะมากมาย เป็นผู้นำการทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียน ให้คะแนน +2
  • ผลงานที่เคยได้รับรางวัล ถ้าคู่แข่งเคยได้รับรางวัลระดับประเทศให้คะแนน +2/รางวัล รางวัลระดับมหาวิทยาลัย +1/รางวัล รางวัลระดับโรงเรียน +0.5/รางวัล

รวมาคะแนนแล้วก็เอามาเรียงลำดับครับ จากนั้นลองประเมินตัวเองว่าเราน่าจะอยู่ประมาณไหน ผลที่ได้จะเห็นภาพคร่าวๆละว่าเราอยู่ตรงไหนของสายตาผู้สัมภาษณ์ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า นี่เป็นวิธีส่วนตัวของผมเองที่เอาไว้ประเมินว่าเราต้องแข่งกับใครอยู่ รู้เขารู้เรา เป็นดีที่สุดครับ

2. เตรียมข้อมูลกันก่อน

หลังจากประกาศผลผู้ผ่านสอบข้อเขียน เท่าที่จำได้จะมีเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เรามัวแต่ดีใจสอบผ่านข้อเขียนจนลืมว่าความโหดที่แท้จริงกำลังใกล้เข้ามา ฮ่าาา ผมใช้เวลาช่วงนี้ไร้สาระอยู่พักใหญ่ๆ จนมาตั้งหลักอีกทีก็ น่าจะสัปดาห์สุดท้ายก่อนสัมภาษณ์ที่กลับมาเตรียมตัวจริงๆจังๆ

หลักการที่สำคัญของการเตรียมตัวไปสัมภาษณ์ที่ผมใช้ก่อนการไปสัมภาษณ์งานทุกครั้ง และผมมั่นใจว่ามันใช้ได้กับการสอบสัมภาษณ์ทุน ก.พ. เช่นกัน นั่นคือ

ถ้าเรามีเวลา 30 นาที เราจะจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อจะให้คนที่ไม่รู้จักเราเลย คิดว่าเราเหมาะกับตำแหน่งที่เราไปสัมภาษณ์

ตามประกาศของ ก.พ. เขียนไว้ว่า การสัมภาษณ์ เพื่อหาผู้ได้รับทุน จะพิจารณาจาก

ประวัติส่วนตัว  ประวัติการศึกษา  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่จะไปเรียน ความตั้งใจจริง ทักษะภาษาอังกฤษ ทัศนคติต่อการรับทุนไปเรียนต่างประเทศแล้วต้องกลับมารับราชการ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ การปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม เชาวน์ปัญญา และบุคลิกภาพอย่างอื่น

จะเห็นว่าสิ่งที่พิจารณา ก็คือพื้นฐานทั่วไปของการสัมภาษณ์งานแหละครับ ดังนั้น ไม่ต้องกลัวไปครับ ทุกอย่างสามารถเตรียมการได้เชื่อผมสิ! ^_^

การเตรียมตัวของผมแบ่งเป็นขั้นๆ ดังนี้

  1. ทำแฟ้มผลงาน
    ผมจำไม่ได้ว่ามันมีกำหนดให้ต้องทำหรือป่าว แต่ผมก็ทำเพราะรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเครื่องมือช่วยให้อาจารย์ที่มาสัมภาษณ์ได้รู้จักเราผ่านสิ่งที่เราทำมาได้ในระดับหนึ่ง หลักการทำแฟ้มผลงานของผมคือ

    1. อย่าพยายามยัดเยียดงาน 100 งานที่ไม่มีค่า ให้เลือกแค่ 3-5 งานที่เจ๋งๆ ใก้อาจารย์เห็นก็พอ
    2. ตำแหน่งในกิจกรรม ต้องให้ตัวใหญ่และอ่านง่าย
    3. มีรูปกิจกรรมเพื่อให้เป็นหลักฐาน
    4. นอกจากนั้นผมก็ใส่ ผลการสอบภาษาอังกฤษ Resumeที่ใช้สมัครงาน ไปด้วย
  2. หาความต้องการ และข้อมูลพื้นฐานของหน่วยทุน
    เราต้องหาข้อมูลของหน่วยทุนที่เราสมัครให้ได้มากที่สุดครับ ถ้าเป็นไปได้ ให้หาอาจารย์ หรือคนที่ทำงานในหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากที่สุด ข้อมูลที่ควรจะมีคือ

    1. ต้องกลับมาทำงานอะไร เพราะลักษณะคนที่จะถูกเลือก ก็ต้องมีความสอดคล้องกับงานที่จะทำ จากประสบการณ์ตรงคือ หน่วยทุนผมมีคนมาสัมภาษณ์ 2 คน ที่อีกคนไม่ได้ เพราะไม่น่าจะเป็นอาจารย์ได้ เพราะดูเนิร์ดเกินไป และคุยไม่รู้เรื่อง อันนี้อาจารย์ที่สัมภาษณ์บอกมาเอง เป้นต้น
    2. หน้าที่ที่รับผิดชอบของงาน จากประสบการณ์ของผม โดนถามว่าคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่อะไรบ้าง และโดนอาจารย์จับได้ว่าไม่เคยวางแผนจะเป็นอาจารย์มาก่อนในชีวิต ฮาาาา
    3. ข้อมูลของต้นสังกัดที่จะต้องทำงาน คุณจำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อผู้บริหารสูงสุด หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วย เป็นต้น เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ และความสนใจในหน่วยงานจริงๆ
    4. ข้อมูลของสาขาที่จะต้องไปเรียน คุณควรจะต้องมีความรุ้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่จะไปเรียน แม้ว่าจะไม่มี Background ของเรื่องที่จะไปเรียน แต่อย่างน้อยควรตอบได้ว่า มหาวิทยาลัยที่อยากจะไปเรียนคือที่ไหน เพราะอะไร เป็นต้น

3. ฝึกตอบคำถามกันดีกว่า

ในส่วนนี้ผมจะเอาคำถามที่ผมพอจะจำได้ และที่รวบรวมมาจากเพื่อนๆที่ได้ทุน มาไว้เป็นแนวทางให้คนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์ ลองเอาไปตอบดูนะครับ

คำถามที่ผมถูกถามในห้องสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ จะเป็นคำถามเพื่อที่จะวัดความสามารถในการไปเรียน และความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องกลับมาใช้ทุนนั่นเองครับ การสัมภาษณ์เลยเหมือนสัมภาษณ์งานอยู่พอสมควร ฮ่าา คำถามก็ประมาณนี้ครับ

  1. ให้แนะนำตัว ข้อมูลที่ผมคิดว่าควรจะพูดตอนแนะนำตัวคือ
    1. ชื่ออะไร
    2. เรียนอะไรมา
    3. จบระดับไหน จากที่ไหนมา
    4. ตอนเรียนทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
    5. ทำไมถึงสนใจมาสมัครทุน ก.พ.
    6. คิดว่าเรียนแล้วกลับมาจะเอามาใช้ยังไง
  2. คำถามเกี่ยวกับครอบครัว และความพร้อมที่จะไปอยู่คนเดียวที่ต่างประเทศ
    1. อาศัยอยู่กับใคร?
    2. มีพี่น้องกี่คน?
    3. เราต้องส่งเงินให้พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือป่าว?
    4. ถ้าเราไปอยู่ต่างประเทศที่บ้านจะมีปัญหาหรือป่าว?
    5. ถ้าไปอยู่ต่างประเทศคิดว่าจะมีปัญหาอะไรบ้าง?
    6. เคยอยู่หอคนเดียวมั้ย?
  3. คำถามเกี่ยวกับเรื่องที่จะไปเรียน และเรื่องทุนกับการพัฒนาบ้านเมือง
    1. ทำไมถึงอยากเรียนสายนี้?
    2. พอจะมีหัวข้อที่สนใจมั้ย?
    3. (ถ้าตอบข้อ b ว่ามี) ลองเล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยสิ?
    4. อยากไปเรียนที่ไหน? เพราะอะไร?
    5. คิดว่าเรียนเร่องนี้มันจะเอามาใช้ประโยชน์ยังไงบ้าง?
  4. ถามเรื่องเกี่ยวกับงานที่จะกลับมาทำ
    1. รู้มั้ยว่ากลับมาต้องมาทำอะไร?
    2. ให้บอกหน้าที่ของตำแหน่งที่ต้องกลับมาทำเท่าที่รู้
    3. ถ้าต้องทำงาน a b c เพิ่มเติมจะโอเคมั้ย?
    4. คุณคิดว่าการทำงานราชการจะมีปัญหามั้ย?
  5. คำถามอื่นๆ
    1. ผมรู้ว่าคุณกำลังโกหกผม ตอบผมมาตรงๆเถอะว่าเป้าหมายชีวิตของคุณคืออะไร? อันนี้ผมโดนถามเอง เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ได้เป็นคนที่มีวิศัยทัศน์กับการเรียนต่อ หรือเป็นอาจารย์มาก่อนที่จะได้ทุน ดังนั้นอาจารย์เลยจับได้ว่ากำลังโกหก แต่ก็ตอบคำถามเพื่อเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด
    2. รู้มั้ยว่าเงินเดือนมันน้อยนะเป็นข้าราชการน่ะ จะพอกินเหรอ?  (เครดิต: น้องวาว ทุนก.วิทย์ ’59)  เพื่อนโดนถามเพราะเพื่อนทำงานเอกชนเงินเดือนสูง
    3. สมัครงานที่อื่นด้วยหรือป่าว? (เครดิต: เพื่อนแซ็ค)  ใครที่ทำงานเอกชน น่าจะโดนถามคล้ายๆกันประมาณนี้
    4. อยากเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์มากกว่ากัน? แล้วทำไมไม่ไปสัมครทุนนักวิจัย? (เครดิต: เพื่อนติ๊ก ทุนก.วิทย์ ’58)  เพื่อนสมัครอาจารย์แต่ชอบทำวิจัยมาก ฮ่าา
    5. คิดว่าทุนที่สมัคร สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติยังไง? (เครดิต: เพื่อนแซ็ค) 
    6. เป็นผู้ชายคนเดียวที่ได้สัมภาษณ์ คิดยังไงบ้าง? (เครดิต: น้องนัท ทุนuis) 
    7. ถ้าหัวหน้าสั่งให้กระทำการทุจริต คุณจะทำหรือไม่ทำ? ทำไมถึงเลือกแบบนั้น?  (เครดิต: น้องนัท ทุนuis) 
    8. คุณคิดอย่างไรกำผลวอลเลย์บอล ไทย-ญี่ปุ่นที่ผ่านมา? (เครดิต: พี่เพื่อน ทุนก.วิทย์ 59) 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นคำถามเท่าที่จำได้ และที่รวบรวมมาจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ได้ทุนด้วยกันนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

4. เมื่อวันสัมภาษณ์มาถึง

คืนก่อนสัมภาษณ์

เหมือนกับตอนสอบข้อเขียนเลยครับ เราต้องทำใจให้สบาย คิดซะว่า ตอนนี้เราเหลือคู่แข่งน้อยลงแล้วเหลือไม่เกิน 1 ต่อ 5 ละ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้กันแล้ว มาเตรียมตัวก่อนนอนกัน

  1. เตรียมชุดสำหรับไปสัมภาษณ์ก่อนนอน ตอนเช้าจะได้ไม่ต้องรีบ
    การเตรียมเสื้อผ้าให้คิดว่า First Impression คือต้องให้ดีที่สุด ให้น่าเชื่อถือที่สุด ผมก็มีคำแนะนำเล็กน้อยประมาณนี้
    ถ้ายังเป็นนักนิสิต/ศึกษา ควรใส่ชุดนิสิต/นักศึกษาไปเลยครับ
    ถ้าทำงานแล้ว ควรเป็นชุดสภาพสำหรับการไปสัมภาษณ์งาน

    1. ผู้ชาย เสื้อเชิร์ตแขนยาวสีสภาพไม่มีลาย กางเกงสแล็ค หรือกางเกงขายาวที่ไม่ใช่ยีนส์ รองเท้าหนัง หรือรองเท้าหุ้มส้น
    2. ผู้หญิง ควรใส่เสื้อและกระโปรงสีสุภาพ หรือใส่เดรสสีสุภาพ แล้วใส่สูทคลุม ใส่รองเท้าหุ้มส้น ไม่ต้องแต่งหน้าจัดเอาแค่พองาม
  2. เตรียมเอกสารให้เรียบร้อย
    1. แฟ้มผลงาน เตรียมไว้ให้ดี เอาเข้าเล่ม หรือ แฟ้มเตรียมไว้
    2. บัตรประชาชน อย่าให้ลืม
    3. แนะนำว่าถือ Transcript ไปด้วยก็ดีครับ

ถ้าครบแล้ว ก็ให้ทำสมาธิ แล้วนอนหลับให้สบายครับ พรุ่งนี้เราต้องไปสู้รบกับอาจารย์ที่จะมาสัมภาษณ์เรากันจริงๆ กันแล้ว!

การสัมภาษณ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตคน 1 คน

ตื่นแต่เช้า อาบน้ำแปรงฟัน กินข้าวเช้าให้เรียบร้อยครับ กะเวลาเผื่อไว้นิดหน่อยก็ดีครับ เพราะสถานที่สอบถ้าเป็น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มันจะอยู่โซนในเมือง ซึ่งตอนเช้ารถก็จะติดเป็นปกติ

เมื่อเดินทางถึงสนามสอบ ขั้นตอนเข้าสอบก็จะประมาณนี้ครับ

  1. รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ว่า เรามาถึงสนามสอบแล้ว หลังจากลงชื่อเรียบร้อยเจ้าหน้าที่จะให้เราเข้าไปอยู่ในห้องรวมกับคนอื่นๆ
  2. เจ้าหน้าที่จะแจกกระดาษซึ่งมีคำถาม เพื่อให้เรากรอก โดยจะมีคำถามจำพวก ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว วิชาที่เราเคยเรียนมา หลักสูตร ป.ตรี ป.โท ที่เรียนมา และที่สำคัญคือจะมีให้เรา เขียนเรียงความ! เกี่ยวกับหัวข้อที่กำหนดมา ซึ่งส่วนใหญ่ทำไม่ทัน (เครดิต: พี่นุ่น ก.วิทย์ 58) แต่ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะทั้งหมดจะใช้เป็นข้อมูลเพื่อถามตอนสัมภาษณ์อีกที
  3. นั่งรอคิวสัมภาษณ์ โดยจะถูกเรียกไปทีละคน ให้ไปนั่งรอที่หน้าห้องสัมภาษณ์ ผู้สอบต้องไม่คุยกันนะครับ เพราะมันผิดกฎ ทำได้แค่ ยิ้มให้กันเบาๆตอนที่สัมภาษณ์เสร็จแล้วเท่านั้นเอง ฮ่าาาา
  4. เข้าห้องเย็น แล้วเวลาสัมภาษณ์ที่แท้จริงก็มาถึง การสัมภาษณ์จะใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที ไปถึง 1 ชั่วโมง แล้วแต่ความเวิ่นเว้อ ข้องทั้งสองฝ่าย คำแนะนำคือ
    1. ไม่ต้องเกร็งครับ เป็นตัวของตัวเอง ปล่อยไปตามสบาย อะไรที่เตรียมมาแล้ว ก็ตอบไปตามนั้น
    2. ถ้าตอบไม่ได้หรือไม่รู้ ก็ตอบไปตามตรงครับ เพราะถ้าดันทุรังตอบไป โดนไล่บี้จนมุมแน่ๆ แล้วจะเสียคะแนนอย่างน่าเสียดาย
    3. ยิ้มแย้มเข้าไว้ ไม่ว่าจะเครียดแค่ไหนก็ตาม แน่นอนครับ อาจารย์ที่มาสัมภาษณ์คุณไม่ได้มาเล่นๆแน่นอน อาจารย์เตรียมตัวมายั่วโมโห เพื่อดูตัวตนที่แท้จริงของคุณแน่ๆ ได้ยินมาว่าทุกห้องจะมีนักจิตวิทยาเป็นผู้สังเกตุการณ์อยู่ด้วย ดังนั้น ยิ้มแย้มเข้าไว้ครับ
    4. มั่นใจเข้าไว้แต่อย่ามากเกินไปครับ เพราะคนที่มั่นใจมากเกินไปจะถูกมองว่าเป็นคนที่จัดการได้ยาก และร่วมงานลำบาก จงยอมที่จะเป็นรองบ้าง และเป็นผู้นำในเวลาที่จำเป็น
    5. เตรียมตัวตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษให้ดี อย่าสติแตกไปซะก่อน ถ้าคุณยังไม่มีผลการสอบภาษาอังกฤษ คุณจะโดนทดสอบภาษาอังกฤษแน่ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไปเรียนต่อได้ ภายในเวลาที่กำหนดคือ 1 ปี

หลังจากสัมภาษณ์ ความรู้สึกแรกที่รู้สึกคือ โล่งอก จากนั้น ความรู้สึกอื่นๆมันจะตามมาอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก เพราะเป็นการสอบสัมภาษณ์ที่โดนดักทางไว้ได้หมดทุกทาง อาจารย์ที่มาสัมภาษณ์รู้ทันหมดว่า เราคิดอะไร โกหกอะไร เลยรู้สึกแย่มากๆ ไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะได้หรือจะไม่ได้ มันรู้สึกมึนๆไปหมด ดังนั้นขอเตือนรุ่นน้องๆว่า สอบเสร็จให้รีบกลับบ้าน แล้วทิ้งทุกอย่างไปเลยครับ เราทำดีที่สุดแล้ว ทำได้แค่รอฟังผลจริงๆ ^_^

ขอให้ทุกคนโชคดี !

=======================

ตอนที่ 2 นี่รู้สึกว่าเขียนยาวมากกว่า ตอนที่ 1 มากๆ รู้สึกใช้พลังงานขุดความจำออกมาเยอะมากจริงๆ ฮ่าาา ทั้งนี้ข้อมูลหลายๆส่วนก็มาจาก นักเรียนทุนหลายๆคน ที่รู้จักกัน ก็ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะค๊าบบบ หวังว่าตอนที่ 2 นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สอบสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะทุน ก.พ. หรือ การสัมภาษณ์งานอื่นๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ

สำหรับตอนต่อไป เราจะมาพูดถึงความลำบากที่มากขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือการสอบภาษาทั้ง 3 อย่างคือ TOEFL IELTS และ GRE รอติดตามกันด้วยนะครับ

=================================

สารบัญ

20 ข้อที่ต้องรู้ก่อนสมัครทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 0

การเตรียมตัวสอบข้อเขียนทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 1

การเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 2

การสอบภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 3

การสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 4

การเตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ :ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 5

Comments

comments