ได้เวลา ตี 1 ก็เป็นเวลาเขียนบล็อคตอนต่อไปกันซะทีนะครับ ขอแสดงความยินดีกับคนที่อ่าน ตอนที่ 0 แล้วยังรู้สึกอยากสมัครทุน ก.พ. เพราะคุณน่าจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิตไม่มากก็น้อยแล้วครับ ณ เวลาต่อจากนี้ไปขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ “ประสบการณ์สอบทุน กพ ตอนที่ 1” ตอนนี้เราจะมาพูดถึง การสอบข้อเขียน ของทุน ก.พ. ตั้งแต่สมัคร ไปจนกระทั่งวันประกาศผลกันเลยทีเดียว มาเริ่มกันเลยดีกว่า ไป!
หลังจากที่เราเข้าใจข้อจำกัดต่างๆของทุน และพอใจแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องทำ ก็คือ เราต้องสอบแข่งขัน เพื่อให้ได้เป็นผู้ถูกเลือก!
1. มาสมัครสอบกัน
ทุน ก.พ. จะมีการสอบคัดเลือกปีละ 1 ครั้ง ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี โดยแต่ละครั้งจะมีจำนวนทุนจะแตกต่างตามความต้องการของหน่วยงานต่างๆ โดยส่วนใหญ่แล้วทุนบุคลทั่วไปจะมีมากถึง 100 – 200 ทุนในทุกปี และแหล่งข้อมูลของทุน ก.พ. ที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นั่นคือ เว็บไซต์ของ ก.พ. ซึ่งข้อมูลครบถ้วนที่สุด แนะนำให้ทุกคนกด Bookmark เว็บไซต์นี้เก็บไว้เลย!
ข้อแนะนำ: ในเว็บของ ก.พ. เอกสารต่างๆ จะใช้วิธีเอาเอกสารทางราชการมาแปะให้ดาวน์โหลดไปอ่านเป็นไฟล์ PDF ซึ่งภาษาที่ใช้ในเอกสารจะเป็นภาษาเขียน ที่บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยผมแนะนำว่าให้อ่านให้ละเอียด และปฎิบัติตามที่เขียนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความผิดพลาดจะดีที่สุด
เลือกหน่วยผิดชีวิตจะหาไม่ T_T
สิ่งที่อยากจะพูดถึงและคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสมัครสอบทุน ก.พ. ก็คือ การเลือกหน่วยทุนครับ โดยทุน ก.พ. อนุญาตให้ผู้สมัครเลือกหน่วยทุนได้ 2 หน่วย (ค่าเลือกหน่วยละ 100 บาทจ่ายพร้อมกับตอนจ่ายค่าสมัครสอบ) การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นการตัดสินชีวิตนักเรียนทุน ก.พ. กันเลยทีเดียว เพราะเราต้องอยู่กับผลของการเลือกนี้ไปอีกอย่างน้อยๆ ก็ 3-6 ปีสำหรับทุนป.โท หรือ 15++ ปี สำหรับทุนป.โท-เอก เรียกได้ว่า เลือกผิดชีวิตพัง! กันเลยทีเดียว โดยผมแนะนำให้พิจารณาข้อมูล 3 ขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1 ที่แนะนำให้ทำคือ หาสิ่งที่เราอยากจะเรียน สิ่งที่เราชอบ หรือสนใจจริงๆให้เจอ จากนั้นให้เอาหน่วยทุนทั้งหมดมาดูว่า มีหน่วยทุนไหนบ้างที่มีให้ไปเรียนในด้านที่เราสนใจ โดยยังไม่ต้องสนใจว่าต้นสังกัดคือที่ไหน แล้วจดทั้งหมดไว้ก่อน
ขั้นที่ 2 แนะนำให้พิจารณาการลักษณะงานที่เราจะต้องกลับมาทำหลังจากเรียนจบ จากประสบการณ์หลังจากที่ได้พิจารณาหลายๆตัวแปร ก็จะสรุปทางเลือกมาให้ได้ดังนี้
- อยากกลับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แนะนำให้ดูหน่วยทุนตามความต้องการของ มหาวิทยาลัย ภาควิชา สาขาวิชา เช่น ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสา (ทุนการพัฒนาระบบรางของประเทศ) เป็นต้น จำนวนของความต้องการประเภทนี้จะมีมากที่สุดจากหน่วยทุนทั้งหมด
- อยากกลับมาเป็นข้าราชการ แนะนำให้ดูหน่วยทุนที่เป็นกระทรวง ทะบวง กรม สำนักฯ ต่างๆ ตัวอย่างเช่น สังกัดสํานักงานเลขานุการ
คณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ สํานักงานปลัดกระทรวงลวิทยาศาสตร์ (ทุนโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์) เป็นต้น - กลับมาเป็นนักวิจัย แนะนำให้ดูหน่วยงานที่เป็น ศูนย์ต่างๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สํานักงานพัฒนา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ทุนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์) เป็นต้น
เมื่อเราได้ทางของเราแล้วว่าอยากกลับมาทำงานแบบไหน ให้ไปดู list ที่เราได้จากข้อ 1 แล้ววงทั้งหมดที่เข้ากับความต้องการของเราครับ ^_^ ใกล้จะเห็นอนาคตกันแล้วใช่มั้ย ฮ่าาา
ขั้นที่ 3 แนะนำให้พิจารณาถิ่นที่อยู่ครับ เพราะที่บอกไปก่อนหน้า การกลับมาใช้ทุนต้องเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาเรียน คือตั้งแต่ 4 – 10 ปีกันเลยทีเดียว เรียกว่าที่ที่เราไปใช้ทุนจะกลายเป็นที่ลงหลักปักฐานของนักเรียนทุนแน่ๆ ดังนั้นให้เอาหน่วยทุนที่เลือกจากขั้นที่ 2 มาลงแผนที่กันเลยครับ ฮ่าาาา ล้อเล่นนะ แค่ดูว่าต้นสังกัดของหน่วยทุนทั้งหมดที่เลือกมา เราพอใจจะทำงานที่ไหนมากที่สุด ถ้าชอบชีวิตในเมืองก็อย่าไปเลือกเมืองเล็กครับ เลือกหัวเมือง หรือในกรุงเทพไปเลย ถ้าชอบชีวิตสงบๆ ก็เลือก ปริมณฑล หรือจังหวัดเล็กๆ มหาวิทยาลัยเล็กๆ ประมาณนั้นนะครับ ^_^
จากขั้นตอนการเลือกหน่วยทุนทั้ง 3 ข้อก็หวังว่าจะช่วยให้ว่าที่นักเรียนทุนทุกคน ได้หน่วยทุนที่ชอบ และค่อนข้างการันตีความสุขเมื่อกลับมาทำงานได้ ไม่มากก็น้อยนะครับ ^_^
กรอกใบสมัครใบนั้นซะ! (เลียนแบบหนังสือ กินกบตัวนั้นซะ ฮ่าาา)
เมื่อเราได้หน่วยทุนที่เราพอใจแล้ว เราจะก็ต้องไปกรอกใบสมัครออนไลน์ อย่าลืมกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วก็ตรวจสอบให้ดีนะครับ โดยเฉพาะ รหัสหน่วยทุน ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ถ้าผิดมาหลก็มีปัญหาใหญ่แน่ๆครับเมื่อ กรอกเสร็จก็ให้พิมพ์ใบเสร็จไปจ่ายเงินค่าสมัครให้เรียบร้อย แล้วก็รอให้สถานะการจ่ายเงินเรียบร้อย ก็พิมพ์ใบเข้าสอบ เก็บไว้ให้ดีครับ จากนั้นก็จงทำใจให้สบาย รอต่อสู้กับข้อสอบได้เลย ^_^
ผมจะขอไม่พูดถึงขั้นตอนการสมัครนะครับ เพราะมันไม่มีอะรซับซ้อน และเท่าที่หาดูในอินเตอร์เน็ต มีคนเขียนไว้เยอะแยะละ แต่เผื่อว่าใครหาไม่เจอผมก็ไปดาวน์โหลดจากเว็บ ก.พ. มาให้แล้วตามนี้ครับ –> ขั้นตอนการสมัครสอบ
2. เตรียมตัวสอบสไตล์ผู้ถูกเลือก!
รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
เป็นคำกล่าวของ ซุนวู ที่ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แม้แต่การสอบทุน ก.พ. ดังนั้นอยากให้ทุกคนรู้ และเตรียมตัวให้ถูกต้อง ก่อนจะไปช็อคกันจริงๆในห้องสอบ ฮ่าาาา
สอบข้อเขียนสอบอะไรกันบ้าง
ที่ไปสอบมามีความรู้สึกว่าข้อสอบของทุน ก.พ. จะไม่เหมือนข้อสอบทั่วไปเท่าไหร่ ข้อสอบจะออกแนววัดเชาว์ปัญญา โดยอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ ยกเว้นแต่วิชาภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างเหมือนข้อสอบที่เราเคยทำสมัย ม.ปลาย หรือถ้าใครสอบ TOEIC มาก็จะคล้ายๆประมาณนั้นเลยครับ
ตามประกาศจะเห็นว่าการสอบข้อเขียน มีแค่ 2 ส่วนคือ ภาษาอังกฤษ และ ความสามารถทางวิชาการ ในความสามารถทางวิชาการนี่แหละครับที่มันแยกเป็น ภาษาไทย และ คณิตศาสตร์ และขอบอกว่าข้อสอบมันไม่เหมือนข้อสอบทั่วไปจริงๆนะ
- ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ แนะนำว่าให้ลองทำข้อสอบ TOEIC หรือ CU-TEP มี 3 ส่วน
- Vocabulary and Expression แนวๆ เติมคำที่ถูกต้องที่สุดในช่องว่าง น่าจะประมาณ ตัวอย่างนี้ แต่ยากกว่านี้หน่อย
- Error Recognition แบบเดียวกับข้อสอบ TOEIC เล้ยยยย หาตัวอย่างมาให้ละ ลองลิงค์นี้เลย
- Reading Comprehension อ่านจับใจความแล้วตอบคำถาม 3-5 ข้อ ลองทำ ตัวอย่างนี้ ได้เลย
- ข้อสอบความสามารถทางวิชาการ มีทั้งหมด 80 ข้อ เป็นภาษาไทย และ คณิตศาสตร์ แนะนำให้ไปหาข้อสอบ ก.พ. ภาค ก. มาลองทำดูครับ ไม่น่าจะต่างกันมากนัก
- วิชาภาษาไทย 40 ข้อ : 20 ข้อแรก เป็นการจับใจความ การสรุปใจความสำคัญของบทความที่ให้มาครับ 20 ข้อหลังเป็นการวิเคราะห์และการใช้เหตุผล หาความเชื่อมโยงของคำที่ให้มา
- วิชาคณิตศาสตร์ 40 ข้อ : สำหรับเด็กสายวิทย์ ได้เปรียบกว่าหน่อยนึงครับ อยู่ที่ใครจำพื้นฐานได้มากแค่ไหน เพราะข้อสอบจะย้อนกลับไปเป็นข้อสอบเลขระดับ ม.ต้น มีที่ยากหน่อยก็จะเป็นข้อสอบทดสอบพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เช่น อนุกรม ตรรกศาสตร์ คุณสมบัติของจำนวนจริง เป็นต้น ที่ต้องบอกว่า ข้อสอบมันทดสอบพื้นฐานจริงๆ ถ้าไม่แน่นจริง ไม่รอดแน่ๆ
ข้อสอบทั้งหมด มีเท่านี้แหละครับ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนครับ สำหรับผมเนื่องจากบำเพ็ญเพียรมานาน จากการตั้งใจเรียน ส่งผลให้ข้อสอบไม่ยากนัก เหมือนมีพรายกระซิบคอยมาบอกข้อสอบ ฮ่าาา น่าหมั่นไส้เนอะ
ถ้าคิดว่าข้อสอบยากแล้ว แล้วจะทำให้เราไม่ได้ไปต่อหนักแล้ว มาดูเกณฑ์คัดเลือกผู้ได้ไปต่อกันดีกว่า โดยเกณฑ์ที่เขียนในประกาศ เป็นแบบนี้ครับ
- วิชาภาษาอังกฤษ ต้องผ่าน Mean ของผู้เข้าสอบทั้งหมด (ก็ชิวๆนะ)
- วิชาความสามารถทางวิชาการ ต้องผ่าน Mean ของผู้เข้าสอบทั้งหมด (ก็ทำได้อยู่แล้ว ก็น่าจะยังชิวอยู่ )
- เอาคะแนนของทั้ง 2 วิชารวมกัน แล้วเรียงลำดับตามคะแนนรวม (เอาหละเริ่มน่ากลัวละ)
- ถ้าหน่วยทุนนั้นมี 1 ทุน ให้เลือกเอาไว้ ไม่เกิน 5 คน!!!
- ถ้าหน่วยทุนนั้นมี 2 – 4 ทุน ให้เลือกไว้ไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนทุน!!!
จะเห็นว่า ไม่ว่าคนสมัครมากมายเท่าไหร่ ต่อ 1 หน่วยทุน ทาง ก.พ. ก็ได้กำหนด จำนวนผู้ที่จะผ่านเข้าสัมภาษณ์ไว้แล้ว ในข้อ 3 ข้างต้น ดังนั้น ถ้าอยากเป็นผู้ถูกเลือก จงเตรียมตัวให้พร้อม และมั่นใจเข้าไว้ นะครับ
ตอนนี้เรารู้แล้วว่า โอกาสของเรามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครเลย มันอยู่ทีตัวเรานี่แหละ จะสู้แค่ไหน ถ้าสู้จริงๆ เราจะต้องพยายามหาข้อสอบมาลองทำ ให้เวลากับการฝึกฝน ยิ่งฝึกมาก ก็ยิ่งมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก โอกาสมันมีน้อยมาก แต่ความจริงคือ อยากให้ทุคนลองมองมุมใหม่ว่า โอกาสของทุกคนมีเท่ากันในตอนนี้ และมันจะเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้ที่เตรียมตัวมาดี และอยากให้เชื่อก่อนว่า ตัวเราเองก็ต้องสู้กับคนอื่นๆได้เหมือนกันนะครับ ^_^ อย่าเพิ่งท้อ ขอให้สู้ต่อไป!
3. เมื่อวันสอบมาถึง (ซะทีสินะ!)
หลังจากที่เราเตรียมตัวกันมาอย่างเต็มที่ วันที่เราต้องลงสนามประลองก็มาถึงจริงๆซะที ขอแบ่งเป็น 4 ช่วง ตามนี้ละกัน
- ช่วงคืนหมาหอน
- ช่วงตื่นนอนห้ามงัวเงีย
- ช่วงอย่าเพิ่งเพลียกับข้อสอบ
- ช่วงปลอบประโลมจิตใจ
1. ช่วงคืนหมาหอน
คืนก่อนสอบเป็นคืนที่ทุกคนจะมีความตื่นเต้นเป็นเรื่องธรรมดา คืนนี้พยายามทำใจให้สบาย นอนหลับให้เต็มที่เพราะวันพรุ่งนี้ เราต้องสอบกัน เช้า ยัน เย็น กันเลยทีเดียว แต่ก่อนจะตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ อยากจะให้ทุกคนเช็คความเรียบร้อยของเอกสารที่ต้องเตรียมไปยื่นวันพรุ่งนี้กันดีกว่า เริ่ม!
- พิมพ์ใบสมัครติดรูปขนาด 2 นิ้ว และลงชื่อลายมือชื่อให้เรียบร้อย
- สำเนาปริญญาบัตร และ Transcript ในระดับปริญญาตรี
***กรณีที่ยังไม่จบ ให้ใช้หนังสือรับรองคุณวุฒิ หนังสือรับรองสถานภาพการศึกษา และ Transcript ปัจจุบัน - สำหรับคนที่สมัครทุน ป.เอก ให้เอา Transcript ของ ป.ตรี และ ป.โท มาด้วย
- สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำหรับผู้สมัครที่เป็นข้าราชการหรือมีข้อผูกพันธ์กับส่วนราชการ จะต้องมีหนังสืออนุญาตให้สมัครสอบและโอนไปปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ได้รับทุนจากหัวหน้าส่วนราชการที่สังกัด โดยจะต้องได้รับอนุญาตก่อนปิดรับสมัครเท่านั้น!
- ถ้าเคยสอบภาษาอังกฤษเช่น TOEIC/TOEFL/IELTS หรืออื่นๆ ให้นำสำเนาผลการสอบภาษาอังกฤษไปด้วย
- เอกสารอื่นๆ เช่น สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล สำเนาทะเบียนสมรส หนังสือรับรองผลการเรียน ฯลฯ
ที่สำคัญเราจะต้องเขียนรับรอง “สำเนาถูกต้อง” พร้อมลงชื่อ วันที่ และเขียนเลขประจำตัวสอบไว้ที่มุมบนขวาของเอกสารทุกแผ่น จากนั้นให้นำเอกสารทั้งหมดใส่ในซองเอกสารขนาด A4 เขียนชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวสอบที่หน้าซอง เท่านี้ก็เรียบร้อย!
อ่ะ ถ้าเช็คแล้ว ครบถ้วน ก็ไปนอนได้ พรุ่งนี้ยังอีกยาวไกล!
2. ช่วงตื่นนอนห้ามงัวเงีย
และแล้วก็มาถึงเช้าวันสอบวันนี้เป็นวันที่จะต้องตื่นมาพร้อมกับทัศนคติที่ดีกับตัวเอง โดยการตื่นแต่เช้า ตอนที่กำลังแปรงฟันอยากให้ยิ้มให้ตัวเองในกระจก แล้วพูดกับตัวเองว่า “เราต้องทำได้!” เรียกกำลังใจก่อนไปสอบ เราต้องมีสติอยู่กับตัวตลอด
อย่าลืมเอกสารสำคัญ อย่าลืมบัตรประชาชน ห้ามลืมกินข้าวเช้า และให้เอาเสื้อกันหนาวไปด้วย!!
สำหรับการเดินทางไปสนามสอบ ต้องเผื่อเวลา 20-30 นาทีเป็นอย่างน้อย เพราะการเดินทางรอบๆสนามสอบ จะติดขัดมากกว่าปกติ เพราะจะมีคนมาสมัครหลายพัน เดินทางมาสอบพร้อมๆกัน ดังนั้นวางแผนให้ดีนะครับ
เมื่อมาถึงสนามสอบจะต้องส่งเอกสารที่เราเตรียมมาจากช่วงที่ 1 ให้กับเจ้าหน้าที่ หลังจากส่งเอกสารแล้ว เราจะมีเวลารอก่อนเข้าห้องสอบช่วงนึง ช่วงนี้อยากให้หามุมสงบๆ เรียกสติ ทำสมาธิ และขอให้เชื่อเถอะว่า เราจะต้องทำได้ดี แล้วทุกอย่างจะดีเอง ^_^
3. ช่วงห้ามเพลียกับข้อสอบ
เมื่อมีประกาศให้เข้าห้องสอบ แนะนำว่า ให้รีบเข้าไปเถอะครับ เพราะอยู่ข้างนอกไปก็ไม่ได้อะไรหรอก สู้เข้าไปหาที่นั่งให้เจอ แล้วนั่งสบายๆ เรียกสติในที่นั่งของตัวเองดีกว่า คำแนะนำที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดตอนทำข้อสอบคือ
- อ่านคำสั่งให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจคำสั่งให้ถามคนคุมสอบ อย่ากลัวที่จะถามครับ
- ไม่ว่าทำได้หรือไม่ได้ อย่าเพิ่งใส่ใจครับ หน้าที่ของเรา ณ เวลานี้คือ ทำข้อสอบ ทำหน้าที่ตรงหน้าให้ดีที่สุดเท่านั้นพอ!
- ถ้าทำไม่ได้อย่าเสียเวลากับมันคือ ให้ข้ามไปก่อน ข้อนี้ผมจำได้แม่นว่าผมข้าม อนุกรมไปประมาณ 5 ข้อในส่วนของคณิตศาสตร์เพราะมันใช้เวลามากเกินไป
- ถ้าเวลาเหลือมากกว่า 5 นาที ให้กลับไปทำข้อที่ข้ามมา และตรวจสอบข้อที่ทำไปแล้วอย่างคร่าวๆ
- ถ้าเวลาเหลือประมาณ 3 นาทีแล้วยังทำไม่เสร็จ แนะนำให้กลับไปตอบให้ครบทุกข้อครับ ห้ามเว้นว่าง! เพราะตอบผิดไม่หักคะแนน แต่ไม่ตอบก็ไม่ได้คะแนนนะครับ
ขอให้สู้จนนาทีสุดท้ายก็พอครับ ^_^ อย่าเพลียกับข้อสอบถ้าทำไม่ได้
4. ช่วงปลอบประโลมจิตใจ
หลังจากสงคราม ก็ต้องมีทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะเป็นธรรดา แต่สำหรับสงครามนี้มันยังไม่จบจนกว่าจะถึงวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านเเข้าสัมภาษณ์ครับ ดังนั้น ตอนนี้เรายังเป็นผู้รอดชีวิตอยู่ อย่าเพิ่งตีโพยตีพายไปก่อนครับ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ฮ่าาา
หลังจากการเตรียมตัวอันยาวนาน จนกระทั่งวันสอบที่ผ่านไป ผมแนะนำว่าไปให้รางวัลตัวเองได้พักผ่อน ทำใจให้สบาย เหมือนไม่เคยสอบไปเลยก็ได้ครับ เตรียมใจเตรียมกายให้พร้อม แล้วรอลุ้นวันประกาศเลยดีกว่า
4. วันประกาศผล
ทุน ก.พ. ประกาศผลที่เว็บไซต์ของ ก.พ. เอง ไม่เกินเที่ยงวันของวันที่ประกาศไว้ จากประสบการณ์ของผมเอง ผมลืมวันประกาศผล และเพื่อนเป็นคนแชทมาบอกว่าได้ทุน ฮ่าาา ดังนั้นไม่ต้องตื่นเต้นครับ ใจเย็นๆ ค่อยๆหา หรือถ้าอยากตื่นเต้น เปิดใน PDF แล้วกด Crtl+F แล้วค่อยๆพิมพ์ชื่อตัวเองทีละตัว ความรู้สึกจะเหมือนตรวจล็อตเตอร์รี่เลยหละครับ ฮ่าาา
==============================
ทั้งหมดนี่คือขั้นตอนตั้งแต่ สมัครสอบ จนถึงวันประกาศผลรวบรวมข้อมูลต่างๆมาให้ และคิดว่าน่าจะครบถ้วนพอสำหรับคนที่จะสมัครในปีต่อๆไป ในบล็อคตอนต่อไป สำหรับผู้ที่ได้ไปต่อ จะต้องไปเผชิญกับอะไรต่อ เราจะมารู้กันใน “นักเรียนทุน ก.พ. The Series : ตอนที่ 2 – มันก็จะยากๆหน่อย ตอนสัมภาษณ์น่ะ”
=======================
ปล. บล็อคนี้เป็นบล็อคที่ตั้งใจเขียนมากๆ และเป็นบล็อคที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆบ้าง ถ้าคิดว่ามันเป็นประโยชน์ ก็รบกวนช่วยผมแชร์ต่อไปหน่อยนะครับ ขอบคุณมากครับๆผม
=================================
สารบัญ
20 ข้อที่ต้องรู้ก่อนสมัครทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 0
การเตรียมตัวสอบข้อเขียนทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 1
การเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ทุน กพ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 2
การสอบภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 3
การสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ : ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 4
การเตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ :ประสบการณ์นักเรียนทุน กพ ตอนที่ 5
9 Pingbacks